ประวัติความเป็นมาขององค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ
***************************
ประวัติตำบลเวียงเหนือ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
บ้านเวียงเหนือ จากการสันนิษฐานจากโบราณสถานโบราณวัตถุ และจากท่านผู้เฒ่าผู้แก่เล่าขานว่า เดิมทีหมู่บ้านเวียงเหนือเป็นที่อยู่ของพวกขอมพวกลั๊วะมาก่อน ต่อมาในปี พ.ศ.1860 จุลศักราช 680 ได้มีชนชาติไทยใหญ่อพยพมาจากเมืองแสนหวี เมืองสีป้อ เมืองลายข้า เมืองนาย เมืองหมอกใหม่ เมืองรางเครือ ประเทศพม่านำโดยพะก่าซอ ได้มาตั้งหมู่บ้านขึ้นที่บ้านดอน และได้ขุดคูเมืองล้อมรอบหมู่บ้าน ดินที่ขุดขึ้นมา ใช้ถมเป็นโนนดินสูง สร้างประตูเมืองไว้ 2 ประตู ทางทิศใต้และทิศตะวันตก
ต่อมา พ.ศ. 1865 จุลศักราช 685 เจ้าครามผู้ครองนครเชียงใหม่ ขณะนั้นอายุได้ 65 พรรษา ได้ทราบข่าวพะก่าซอได้สร้างบ้านเมือง พระองค์จึงคิดจะยึดเอามาเป็นเมืองขึ้น จึงได้ส่งหน่วยสอดแนมมาดูว่าพอจะยึดเอาได้หรือไม่ เมื่อหน่วยสอดแนมดูแล้วคิดว่าพอจะยึดได้จึงได้ไปรายงานให้พระองค์ทราบ จึงคิดจะยกทัพมาแต่เป็นที่น่าเสียดายพระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อนในปี พ.ศ. 1877 จุลศักราช 691
ครั้งถึง พ.ศ.1890 พระเจ้าเสนภูติโอรสองค์ที่ 1 ของพระเจ้าคราม ซึ่งครองเมืองเชียงแสนอยู่ ได้ส่งพระเจ้ามหาชัยยกทัพมาเพื่อยึดเอาบ้านดอน การยกทัพมาในสมัยนั้นลำบากมากต้องผ่านป่าทึบและภูเขาสลับซับซ้อนมากมายรวมทั้งต้องผจญภัยกับไข้ป่า การเดินทัพของเจ้ามหาชัยได้นำช้างไปด้วย 3 เชือก เดินทางรอนแรมไปจนถึงที่แห่งหนึ่งเหมาะที่จะพักผ่อนจึงได้หยุดพักแรม ตกดึกคืนนั้นหลังจากพระองค์บรรทมแล้วทรงสุบินเห็นข้าศึกมาล้อมจับพระองค์ และยังจับช้างของพระองค์ไป ครั้นรุ่งเช้าพระองค์จึงเล่าความฝันให้แก่บรรดาเสนาอำมาตย์ทั้งหลายฟัง ทุกท่านต่างรู้สึกไม่สบายใจคอยระมัดระวังภัยอยู่ตลอดเวลา ครั้นต่อมาไม่นานช้างเผือกในขบวนทัพเชือกหนึ่งได้ตายลงโดยไม่ทราบสาเหตุ พระองค์จึงรับสั่งให้เผาและเอากระดูกศีรษะช้างฝังไว้ใกล้ที่พักแรมแห่งนั้น ภายหลังได้ชื่อว่า “บวกหัวช้าง” ซึ่งอยู่ระหว่างเส้นทางสายอำเภอปาย – เชียงใหม่ เมื่อช้างเผือกตายลง เจ้ามหาชัยจึงสั่งให้ยกทัพกลับไปเชียงใหม่ ในเวลาต่อมาพระองค์ก็เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.1973
พ.ศ.2054 จุลศักราช 873 พระเจ้ามหาชีวิต นามว่า “เจ้าศรีใจยา” ได้ยกทัพมาเพื่อตีเอาบ้านดอนอีกครั้งหนึ่ง โดยเดินทัพมาถึงที่เจ้ามหาชัยฝังศีรษะช้าง จึงสั่งให้หยุดพักทัพและได้ส่งกองสอดแนมเดินทางมาล่วงหน้าเพื่อหาทางที่จะตีเอาบ้านดอนให้ได้ เมื่อกองสอดแนมมาเห็นบ้านดอนมีประตู 2 ประตู คือประตูด้านทิศใต้และประตูด้านทิศตะวันตก และมีคูเมืองถึง 3 ด้าน อีกด้านหนึ่งติดแม่น้ำจึงได้กลับไปรายงานเจ้ามหาชีวิตเพื่อทรงทราบ
พอถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือน 5 เจ้ามหาชีวิตจึงได้ยกทัพมาจนใกล้บ้านดอนมีวังน้ำแห่งหนึ่ง พระองค์จึงได้นำช้างเผือกลงอาบน้ำและได้พูดกับช้างว่า พรุ่งนี้เจ้าจะมีชัยชนะ(วังน้ำแห่งนี้ต่อมาได้ชื่อว่า “วังช้างเผือก”) แล้วจึงเคลื่อนทัพมาประชิดตัวเมืองตรงประตูด้านทิศตะวันตก ในคืนนั้น พระองค์ทรงสุบินว่ามีเทพธิดามาห้อมล้อมและพระอินทร์ทรงอุ้มพระองค์ไปนอนบนยอดเขาและนำกลับมาในตอนเช้า เมื่อพระองค์ตื่นจากบรรทมจึงเล่าให้อำมาตย์ฟัง นับว่าเป็นนิมิตว่าพระองค์จะตีบ้านดอนได้แน่
รุ่งเช้าวันใหม่ พระองค์ได้กรีฑาทัพเข้าตีบ้านดอนสู้รบกับพม่า จนพม่าแตกหนีไปทางทิศตะวันตกและได้สู้รบกันที่ประตูเมือง พม่าพ่ายแพ้ไป ต่อมาชาวบ้านเรียกประตูด้านนี้ว่า “ประตูม่าน” ฝ่ายพะส่งกง น้องชายพะก่ากั่นนะมาทางทิศใต้ เจ้ามหาชีวิตไล่ทันสู้รบกัน ถูกเจ้ามหาชีวิตฆ่าตายที่นั่น ประตูด้านนี้ต่อมาเรียกว่า “ประตูดำ” และถนนสายนี้เรียกว่า “กองส่งกง” ฝ่ายพะก่ากั่นนะจึงยอมแพ้แก่เจ้ามหาชีวิต เมื่อสิ้นสุดการสู้รบแล้ว พ.ศ.2054 จุลศักราช 873 เจ้ามหาชีวิตได้นำความไปกราบบังคมทูลพระราชบิดาคือพระเจ้าติโลกราช เรื่องการทำศึกกับพม่าที่บ้านดอน จึงได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “พระเจ้าชัยสงคราม” จากนั้นได้กลับมาบูรณะบ้านดอนให้ดียิ่งขึ้น มีการขุดคูเมืองให้ลึกลงไปอีกและเจาะประตูเมืองด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือ และให้ชื่อบ้านดอนว่า “บ้านเวียงใหม่” และได้บูรณะวัดขึ้นมาใหม่ให้ชื่อว่า “วัดศรีดอนชัย” โดยเอาชื่อของพระเจ้าศรีใจยาหรือเจ้าชัยสงครามบวกกับชื่อบ้านเดิม เป็นวัดศรีดอนชัย ส่วนที่อยู่ของพระองค์ได้สร้างใหม่แทนที่เดิมของพะก่ากั่นนะเรียกกันว่า “หอเจ้าฟ้า” (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถานีอนามัยบ้านเวียงเหนือและที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ)
ในปี พ.ศ.2070 เจ้าชัยสงครามได้เสด็จไปเมืองพิงนครบุรี(เมืองเชียงใหม่) และได้รับสั่งให้เจ้าบุญเถลิงเป็นหัวหน้าปกครองดูแลบ้านเมืองแทน
ในปี พ.ศ.2090 เจ้าชัยสงครามได้กลับมาอยู่ที่บ้านดอนอีกครั้งหนึ่ง ได้นำคนพื้นเมืองจากเชียงใหม่มาอยู่เป็นจำนวนมาก จนต้องขยายเวียงออกไปทางทิศใต้อีก ซึ่งเดิมเป็นป่าไม้สักและในปีนี้เองเจ้าชัยสงครามได้เสด็จสวรรคต เมื่อจุลศักราช 909 รวมพระชนมายุได้ 64 พรรษา เจ้าสุนันทามเหสีเจ้าชัยสงครามจึงได้ครองเมืองสืบต่อมา
ครั้นต่อมาในปี พ.ศ.2146 พระเจ้ากรุงอังวะเมืองพม่า ได้มีอำนาจขึ้นมาทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าชัยสงคราม จึงได้ยกทัพมาตีเอาแคว้นไทยใหญ่ได้เมืองนาย เมืองแสนหวี เมืองสีป้อ เมืองใหม่และมาตีเอาเวียงใหม่อีกด้วย พระเจ้าอังวะสั่งให้ทหารเผาบ้านเมืองเวียงใหม่ทั้งวัดวาอารามเสียหายหมด บ้านดอนเวียงใหม่ จึงตกเป็นเมืองขั้นของพม่าอีกครั้งหนึ่ง เรื่องนี้ได้ทราบไปถึงสมเด็จพระนเรศวร พระองค์จึงยกทัพมาพร้อมด้วยพระเจ้าหริภุญชัยเจ้าเมืองลำพูน เพื่อจะตีเอาเมืองอังวะก่อนแล้ว จะตีเอาบ้านดอนเวียงใหม่ แต่พระองค์เกิดประชวรเสียก่อน และพระองค์ได้เสด็จสวรรคตที่เมืองหาง พ.ศ.2148 จุลศักราช 967 ส่วนพระเจ้ากรุงอังวะทราบข่าวว่าสมเด็จพระนเรศวรยกทัพมาตีเมืองอังวะ จึงรีบสละบ้านดอนเวียงใหม่กลับไปเมืองอังวะ
พ.ศ.2198 จุลศักราช 1017 เจ้าแก้วเมืองมาราชนัดดาของเจ้าชัยสงคราม ได้ครองบ้านดอนเวียงใหม่แทน พระองค์ได้โปรดให้สร้างวัด วิหาร โบสถ์ที่พม่าเผาทิ้งขึ้นมาใหม่จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2230 และจนถึงปัจจุบันบ้านดอนเวียงใหม่เรียกว่า “บ้านเวียงเหนือ” ประกอบด้วย 4 หมู่บ้านด้วยกันคือ หมู่ที่ 1 บ้านโป่ง หมู่ที่ 2 บ้านใหม่ หมู่ที่ 5 บ้านโฮ่งและหมู่ที่ 8 บ้านศรีดอนชัย